Welcome to Brunei ตอนที่ 2
Welcome to Brunei with Orienta Vista
ตอนที่ 2 : ประวัติศาสตร์บรูไนเบื้องต้น
ก่อนจะเริ่มเดินทางกัน มีผู้สนใจเกี่ยวบรูไนไม่น้อยเลย ที่อยากรู้ว่าบรูไนในอดีตมีประวัติเป็นอย่างไร
วันนี้ทางทีมงานขอร่ายยาวสักหน่อย พยายามเอาแต่เนื้อหาสำคัญมาเสิร์ฟให้ทุกท่านให้อ่านกันแล้ว
พร้อมแล้วเชิญเลย..
บรูไนมีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 มีหลักฐานที่เชื่อกันว่า บริเวณบรูไนในปัจจุบันเป็นอาณาจักรโปนิ (Po-ni) หรือโบนิ (Boni) แต่มาเป็นที่รู้จักกันมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยบรูไนเจริญถึงขีดสุดในสมัยสุลต่านโบเกียห์ที่ปกครองจักวรรดิบรูไนเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญบนเกาะบอร์เนียวอยู่บนเส้นทางการค้าจากประเทศจีนผ่านโมลุกกะหรือหมู่เกาะเครื่องเทศไปสู่ประเทศตะวันตกในช่วงปี ค.ศ. 1485 – 1528 และมีอาณาเขตครอบครองส่วนใหญ่ของเกาะบอร์เนียวตั้งแต่พื้นที่ทางตะวันตกไปยันตะวันออก ตั้งแต่ซาราวักไปจนถึงซาบาห์ เลยไปจนถึงหมู่เกาะซูลู ปาลาวัน ไกลไปถึงลูซอน ที่เป็นฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน มีชื่อเสียงทางการค้า สินค้าส่งออกที่สำคัญในสมัยนั้น ได้แก่ การบูร พริกไทย และทองคำ โดยในปี ค.ศ. 1521 เฟอร์ดินานด์ มาเจลลันมาพบกับบรูไน นักเดินเรือชาวสเปนได้เดินทางมาถึงบรูไน และได้มีการบรรยายถึงความงดงามของราชสำนักบรูไนและยืนยันว่าบรูไนเป็นเมืองมโหฬารที่สุดของเกาะบอร์เนียว โดยในบันทึกได้มีการบันทึกถึงการต้อนรับและสภาพของบ้านเรือนในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงยุคทองของบรูไนได้เป็นอย่างดี
ในปี ค.ศ. 1578 สเปนสามารถยึดครองและตั้งฐานที่มั่นที่อ่าวมะนิลา ได้แผ่ขยายอิทธิพลและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในพื้นที่โดยรอบ และได้เข้าโจมตีบรูไนด้วยวิทยาการทางสงครามที่ทันสมัย และยึดครองบรูไนได้เป็นผลสำเร็จในสงครามที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของบรูไนในชื่อ “สงครามกัสติลา” (Perang Kastila) โดยสเปนอ้างเหตุว่าบรูไนได้สนับสนุนให้ชาวมะนิลาและเกาะลูซอนกระด้างกระเดื่องต่อสเปน สเปนครอบครองบรูไนไม่นานนักก็ถอนตัวออกไป เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากชาวบรูไน อีกทั้งสเปนไม่ชินกับการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน จึงทำให้บรูไนกลับมาเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง แต่กระนั้นเองบรูไนก็ยังคงต้องเข้าสู่ยุคสงครามอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากนั้นบรูไนเริ่มเสียดินแดนและเสื่อมอำนาจลง เมื่อสเปนถอนตัวออกจากบรูไน ส่งผลให้อาณาจักรซูลูที่เดิมขึ้นต่อบรูไนประกาศเอกราช และการที่อาณาจักรซูลูกลายเป็นอาณาจักรอิสระ ประกอบกับอิทธิพลของสเปนยังคงอยู่ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทำให้บรูไนไม่สามารถขยายดินแดนขึ้นมาทางตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเช่นเคย
ต่อมามีการต่อสู้แย่งชิงบังลังค์ราชสมบัติ เกิดสงครามกลางเมือง ทางสุลต่านได้รับความช่วยเหลือจากทางอาณาจักรซูลู สุลต่านได้มอบดินแดนทางตอนเหนือของบอร์เนียว (แถบรัฐซาบาห์ในปัจจุบัน) ให้เป็นรางวัลแด่อาณาจักรซูลู
หลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมือง บรูไนก็ยังคงดำรงฐานะเป็นรัฐอิสระเรื่อยมา และยังคงมีความสำคัญในฐานะเมืองท่าค้าขายเช่นเคย จนกระทั่งการเข้ามาอังกฤษทำให้บรูไนต้องเผชิญกับภัยคุกคามอีกครั้งหนึ่ง อังกฤษในนามของบริษัทอินเดียตะวันออก (East Indies Company) ได้สนใจที่เข้ามามีอิทธิพลในเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าขายที่สำคัญกับจีน และอีกนัยหนึ่งอังกฤษต้องการลดอิทธิพลของฮอลันดาในดินแดนแถบนี้ลง ชาวดายักก่อกบฏในซาราวัก ทำให้สุลต่านโอมาร์อาลีไซฟุดดินที่ 2 ส่ง มูดาฮัสซิม ผู้สำเร็จราชการเข้าไปประจำการในซาราวัคเพื่อปราบกบฏ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เจมส์บรูค (James Brooke) ได้เดินทางมายังในเขตซาราวัคพอดี ทำให้มูดาฮัสซิมขอความช่วยเหลือกับกองกำลังของเจมส์บรูคในการปราบกบฎ แต่แรกเริ่มนั้นเจมส์บรูคได้ปฎิเสธ แต่ในท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 1841 เจมส์บรูคได้ยอมให้ความช่วยเหลือในการปราบกบฎ ผลจากการที่เจมส์บรูคสามารถปราบกบฏในซาราวัคได้ ทำให้สุลต่านลงนามในสนธิสัญญาที่จะยกซาราวัคให้เจมส์บรูคปกครอง และแต่งตั้งเจมส์บรูคเป็น “ราชา” ตั้งแต่นั้นมาเจมส์บรูคก็ได้สมญานามว่า “ราชาผิวขาว” หรือ “White Raja” และเป็นราชาผู้ครองซาราวัค และในท้ายที่สุดซาราวัคก็ตกเป็นของเจมส์บรูคโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1843
ในปี ค.ศ. 1846 อังกฤษได้ยกกองกำลังมาโจมตีบรูไน และบังคับให้บรูไนลงนามในสนธิสัญญายุติการยึดครองบรูไน และส่งผลให้บรูไนต้องยกเกาะลาบวนให้อยู่ในการครอบครองของอังกฤษ และในปีต่อมาบรูไนก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาการค้าและเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ในขณะเดียวกันเจมส์บรูคและผู้สืบทอดอำนาจก็ได้ขยายดินแดนซาราวัคด้วยการผนวกเอาดินแดนในอาณัติของบรูไนควบคู่กันไปด้วย
ในขณะเดียวกัน ชาติอื่นๆ ก็เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามายังบรูไน โดยปรากฏว่าในปี ค.ศ. 1860 บรูไนได้ให้ ชาร์ลส์ ลี โรเซส (Charles Lee Roses) ชาวสหรัฐอเมริกาเช่าพื้นที่ และให้ บารอน ฟอน โอเวอร์เบค (Baron Von Overbeck) ชาวออสเตรเลียเช่าพื้นที่ในปี ค.ศ. 1877 และมีปรากฏอีกว่า จากการที่บรูไนให้สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเช่าพื้นที่ สร้างความไม่พอใจให้กับสเปน เยอรมนีและฮอลันดาอีกด้วย
บรูไนที่เคยกว้างใหญ่ในเกาะบอร์เนียว ได้สูญเสียซาบาห์, ซาราวัก และลาบวน ก็เริ่มเหลือพื้นที่ปกครองอยู่น้อยลง เริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามของอังกฤษที่มาเรื่อย ๆ เกรงว่าวันหนึ่งจะไม่เหลือดินแดนอีกต่อไป ทำให้ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1888 ด้วยความวิตกว่าจะต้องเสียดินแดนต่อไปอีก บรูไนจึงได้ยินยอมเป็นรัฐในอารักขาของประเทศอังกฤษ (British Protectorate) ตามข้อตกลง Agreement 1888 และต่อมาในปี ค.ศ. 1906 บรูไนได้ทำข้อตกลงกับประเทศอังกฤษอีกครั้ง คือ ข้อตกลงเสริม ในปี ค.ศ. 1905 และ ค.ศ. 1906 (Supplementary Agreement 1905 and 1906) และลงนามในสนธิสัญญายินยอมเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 1929
ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของบรูไนเริ่มจากในวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1926 ชายชาวอังกฤษสองคนนามว่า มาริออตและโคชเรน (F.F. Marriot and T.G. Cochrane) ได้ขี่จักรยานไปตามถนนเลียบชายฝั่งทะเลในแถบซีเรียจรดเขตกัวลาบาไลท์ทางด้านตะวันตกของบรูไน ทันทีที่เขาได้พักผ่อนอยู่ในบริเวณดังกล่าว จมูกของพวกเขาก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นของน้ำมันดิบ และพวกเขาก็ไม่รอช้าที่จะรายงานไปยังคณะผู้ปกครองบรูไนเพื่อให้มาสำรวจในบริเวณดังกล่าว และความโชคดีของบรูไนก็มาถึงเมื่อการขุดเจาะสำรวจน้ำมันประสบความสำเร็จ ใต้ผืนดินแห่งนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ายิ่ง
การสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1929 ทรัพยากรธรรมชาตินี้ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศจากการค้าพริกไทยและการบูรมาเป็นประเทศผู้ค้าน้ำมันปิโตรเลียม แม้จะประสบปัญหาการค้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อสงครามยุติ เศรษฐกิจก็กลับฟื้นคืนมาได้
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ก่อนการค้นพบน้ำมันแหล่งใหญ่ในเขตซีเรีย-กัลลาเบไลท์ อังกฤษได้เริ่มสำรวจน้ำมันในเขตบรูไนมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1899 และก่อนหน้านี้ก็มีการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบ้างในเขตกัวลาบาไลท์ แต่ปริมาณที่ค้นพบก็ไม่คุ้มค่าต่อการขุดเจาะขึ้นมา แต่ต่อมามีการก่อตั้งบริษัทปิโตรเลียมอังกฤษแห่งมาลายา (British Malaya Petroleum Company) ในปี ค.ศ. 1922 เพื่อสำรวจขุดเจาะน้ำมันในเขตบรูไน ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นบริษัทปิโตรเลียมเชลส์แห่งบรูไน (Brunei Shell Petroleum Company) โดยเริ่มขุดในปี ค.ศ. 1929
ในปี ค.ศ. 1958 ประเทศอังกฤษต้องการให้เกิด “สหพันธ์บอร์เนียวเหนือ” ซึ่งจะประกอบด้วย รัฐซาราวัก รัฐบอร์เนียวเหนือ และรัฐบรูไน แต่สุลต่านฮัจญี เซอร์ มูดา โอมาร์ อะลี ชัยฟุดดีน (Sultan Haji Sir Muda Omar Ali Saifuddin) (บิดาขององค์สุลต่านฮัสซานัล โบเกียห์ องค์ปัจจุบัน) โดยองค์สุลต่านของบรูไนในขณะนั้นทรงไม่เห็นด้วยเนื่องจากบรูไนมีทรัพยากรน้ำมันปิโตรเลียมขนาดใหญ่ หากเข้าร่วมเป็นสหพันธรัฐบอร์เนียวเหนือรายได้จากน้ำมันปิโตรเลียมจะต้องแบ่งให้ประชาชนส่วนอื่นนอกจากชาวบรูไน จึงทำให้ไม่เกิดสหพันธรัฐบอร์เนียวขึ้น ขณะเดียวกันกลับมีข้อเสนอให้รวมบรูไนเข้ากับรัฐต่างๆ ในคาบสมุทรมาลายูเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียแทน สุลต่านโอมาร์ทรงเห็นด้วย เพราะชาวบรูไนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับมาลายู
ระหว่างการเจรจาดำเนินการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียอยู่นั้น ในปี ค.ศ. 1962 บรูไนจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรครักยัตบรูไน/พรรคประชาชนบอร์เนียว (Parti Rakyat Brunei/Borneo People’s Party) ชนะการเลือกตั้ง และได้เสนอให้บรูไนรวมกับรัฐซาบาห์และรัฐซาราวักแต่สุลต่านโอมาร์ทรงคัดค้าน พรรครักยัตบรูไนจึงก่อกบฏขึ้น โดยมีกองทัพแห่งชาติกาลิมันตันภาคเหนือ ซึ่งเป็นกองทัพคอมมิวนิสต์เข้าร่วมสุลต่านโอมาร์ทรงขอกองทัพอังกฤษและกองทหารกูรข่าจากสิงคโปร์เข้าปราบรามจนสำเร็จ นับจากนั้นเป็นต้นมาบรูไนได้ปกครองภายใต้กฎอัยการศึก ส่วนการรวมรัฐเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียนั้น ในช่วงท้ายของการเจรจาสุลต่านโอมาร์กลับทรงไม่เห็นด้วย และทรงต้องการให้บรูไนเป็นรัฐอิสระ แม้ต้องเป็นรัฐในอารักขาของประเทศอังกฤษต่อไปก็ตาม
ในปี ค.ศ. 1968 สุลต่านโอมาร์ทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส คือ สุลต่านฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียะห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’issaddin Waddalah) ซึ่งทรงปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
บรูไนทำข้อตกลงกับประเทศอังกฤษอีกครั้งในปี ค.ศ. 1971 ซึ่งบรูไนได้เป็นประเทศอิสระ แต่สุลต่านโบลเกียะห์ทรงขอให้ประเทศอังกฤษยังคงรับผิดชอบดูแลกิจการต่างประเทศและการป้องกันประเทศอยู่ก่อนจนกระทั่งและในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1984 เจ้าชายฮัสซานัลโบเกียห์ได้อ่านแถลงการณ์ประกาศอิสรภาพด้วยพระองค์เองว่าบรูไนได้รับอิสรภาพจากการอารักขาของอังกฤษและมีเอกราชเป็นประเทศบรูไนดารุซซาลามที่มีเอกราชเต็ม (Brunei Darussalam) จนถึงในปัจจุบัน ซึ่งหลังนั้นนั้นมา องค์สุลต่านยังคงเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และทันทีที่บรูไนได้รับเอกราช บรูไนได้สมัครเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน โดยทันที
ประเทศบรูไนปกครองโดยระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์มาโดยตลอด ซึ่งหลังจากที่ค้นพบและส่งออกน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก องค์สุลต่านถือว่าเป็นบุคคลที่รวยที่สุดติดอันดับโลก แต่ท่านก็ดูแลประชาชนในประเทศเป็นอย่างดี มีสวัสดิการดี ๆ ให้ประชาชน เช่น รักษาพยาบาลฟรี น้ำมันราคาถูก เรียนฟรีไปจนถึงมหาวิทยาลัย เป็นต้น
เอาหล่ะ เรารู้ประวัติศาสต์ของบรูไนกันแล้ว เริ่มเดินทางกันเลย
เจอกันต่อ ตอนที่ 3 ครับ