ไหว้พระธาตุ 12 นักษัตร
1. ปีชวด (ปีหนู)
พระธาตุประจำปีเกิด: วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุศรีจอมทอง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ความพิเศษพุทธสถานแห่งนี้ คือ เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ (พระธาตุส่วนที่เชื่อกันว่าเป็นพระเศียรเบื้องขวาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ซึ่งปัจจุบันพระธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ไม่ได้ฝังอยู่ใต้ดิน แต่ตั้งอยู่ภายใน พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร สร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
โดยทุกปีในวันมาฆบูชาจะมีพิธีแห่พระธาตุออกจากวิหารไปยังโบสถ์ให้ชาวบ้านสรงน้ำ ซึ่งพิเศษมาก ๆ และพิธีนี้ยังปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน
2. ปีฉลู (ปีวัว)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ: วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดคู่บ้านคู่เมืองชาวลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปเพียง 18 กิโลเมตร เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู
ตามตำนานที่เล่าขานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามรูปได้จาริกไปตามที่ต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน มีความเลื่อมใส นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้ จึงนำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวาย แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นเครื่องบูชารักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน ก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น และในกาลต่อ ๆ มา ก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม แต่มาเด่นชัดการบูรณะซ่อมแซมในสมัยพระนางจามเทวี ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมาย องค์พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลายหรือที่เรียกว่าทองจังโก ก่อให้เกิดอิทธิพลต่อการสร้างพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทองในเวลาต่อมา
ภายในพระเจดีย์ฯ ได้บรรจุพระเกศาธาตุในผอบทองคำ และพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎ (หน้าผาก) ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างนิยมมากราบไหว้ รวมถึงมาชมวิหารพระแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตดอนเต้า พระคู่บ้านคู่เมืองลำปางอีกด้วย
หลังจากกราบพระขอพรเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเดินชมด้านหลังพระธาตุ เราจะพบกับวิหารพระพุทธ เมื่อเข้าไปข้างในแล้วปิดประตูให้สนิทจะมีลำแสงลอดจากร่องประตูที่แตกทาบลงบนผ้าขาวที่ขึงไว้ เกิดเป็นภาพพระธาตุกลับหัวน่าอัศจรรย์ กลายเป็น Unseen ล้านนา แนะนำว่าคุณควรไปชมด้วยตนเองสักครั้ง
3. ปีขาล (ปีเสือ)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ: พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองแพร่เพียงแค่ 8 กิโลเมตรเท่านั้น ใครก็ตามที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่ต้องมาสักการะพระธาตุช่อแฮเพื่อเป็นสิริมงคล กล่าวคือถ้ามาไม่ถึง ถือว่าไม่ได้มาจังหวัดแพร่
องค์พระธาตุช่อแฮเป็นย์ศิลปะเชียงแสนแบบแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง หุ้มและบุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโกเป็นแผ่นสีทองงดงามยิ่ง มีความสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยมซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดาน 1 ชั้น จนถึงองค์ระฆัง 8 เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉนส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา
ภายในองค์พระธาตุช่อแฮ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอ(ศอก)ด้านซ้าย และพระเกศาธาตุ(เส้นผม) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ชื่อพระธาตุช่อแฮนั้นมีความเชื่อดั้งเดิมว่า ขุนลัวะอ้ายก้อมได้นำผ้าแพรมาถวายพระพุทธเจ้า และต่อมาชาวบ้านได้นำผ้าแพรชั้นดีทอจากสิบสองปันนามาผูกบูชาพระธาตุ คำว่าช่อแฮ จึงหมายถึง “ช่อแพร” นั่นเอง พระธาตุช่อแฮ ซึ่งพบว่าเขียนเป็นอักษรธรรมว่า “ช่อแฮ” และ “ช่อแร” ซึ่งอ่านว่า “ช่อแฮ” ทั้งสองอย่างนั้นมีความหมายว่า “ธงสามเหลี่ยมทำด้วยแพร” ว่ากันว่า หากใครนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้
ตำนานพระธาตุช่อแฮในพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย ในหอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงวัดพระธาตุช่อแฮ ว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังเป็นพระมหาอุปราชซึ่งครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ในครั้งนั้น พระองค์โปรดให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่าง ๆ รวมทั้งที่เมืองแพร่ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อมให้นำมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ เมื่อขุนลัวะอ้ายก้อมมาถึงบริเวณดอยโกสิยธชัคคะเห็นว่าทำเลดีจึงสร้างเจดีย์ขึ้น และนำผอบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในสิงห์ทองคำ สร้างแท่นที่ตั้งผอบด้วยเงินและทอง แล้วตั้งสิงห์ทองคำไว้โดยโบกปูนทับอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็จัดงานบำเพ็ญกุศลเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน ภายหลังเมืองแพร่ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาไทยกษัตริย์ล้านนาก็ทรงได้ทะนุบำรุงพระธาตุช่อแฮตามลำดับ จนกระทั่งราชวงศ์นี้หมดอำนาจลง พระธาตุช่อแฮก็ทรุดโทรมเป็นอันมากจนล่วงมาถึง พ.ศ. 2467 พระมหาเมธังกร (พรหม พรหมเทโว) อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่และเจ้าอาวาสวัดเมธัง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ พร้อมด้วย ครูบาศรีวิชัย (หรือตุ๊เจ้าวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน) ได้เป็นประธานบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดแพร่ จนทำให้พระธาตุช่อแฮกลับมามีความงดงาม และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่
นอกจากการไปกราบสักการะองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว แนะนำให้ทุกท่านได้ไปเยือนและนมัสการพระเจ้าช่อแฮ ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และ นมัสการพระเจ้าทันใจ ซึ่งผู้คนในจังหวัดแพร่ ต่างให้ความเลื่อมใสและศรัทธามาจนถึงปัจจุบัน
ด้านงานประจำปีของพระธาตุช่อแฮนั้น งานประเพณีนมัสการองค์พระธาตุช่อแฮ โดยยึดถือตามจันทรคติ ในระหว่างวันขึ้น 8 ค่ำ – ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ ของทุกปี (ราว ๆ เดือนมีนาคม) โดยใช้ชื่องานว่า”งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง”
ด้วยความสำคัญขององค์พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่นำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐานบนหลังม้าเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดและ นำมาเป็นคำขวัญประจำจังหวัดแพร่ ดังนี้ “หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผีคนแพร่นี้ใจงาม”
4. ปีเถาะ (ปีกระต่าย)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ: พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
พระธาตุแช่แห้ง ประดิษฐานอยู่ภายในวัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ย ๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต
ลักษณะของพระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆังศิลปะล้านนา ส่วนฐานทำเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน สี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็ก บัลลังก์ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ฐานหน้ากระดาน กลม เป็นกระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งคล้ายกลีบบัว หรือลายใบไม้ แทน ลายดังกล่าวนี้คงได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ซึ่งนำมาต่อเติมขึ้นภายหลัง เมื่อล่วงเข้าพุทธศตวรรษที่ 24 แล้ว โดยองค์พระธาตุทั้งหมดใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน อีกทั้งด้วยองค์พระธาตุมีความสูงถึง 55.5 เมตร ฐานกว้างด้านละ 22.5 เมตร มีสีเหลืองอร่าม ตั้งอยู่บนเนิน จึงทำให้มองเห็นได้แต่ไกล
ตำนานการก่อสร้างนั้น พบในพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวว่า ปี พ.ศ. 1896 พระยาการเมือง ซึ่งเป็นเจ้านครน่านในกาลนั้น ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกข้อมือซ้ายขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และได้เริ่มให้สร้างพระธาตุขึ้น
และตามตำนานเก่าก็เล่ากล่าวว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
ชาวเมืองล้านนามีความเชื่อกัน ว่าการ ได้เดินทางไปสักการบูชากราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุแซ่แห้ง หรือชาวล้านนาจะเรียกกันว่า การชูธาตุ แล้วนั้นจะทำได้รับ อานิสงค์อย่างแรงกล้า ทำให้ชีวิตอยู่ดี มีสุข ปราศจากโรคภัยต่างๆ มาเบียดเบียน หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า
ทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (เดือน 4 ใต้) หรือในราวเดือนมีนาคม จะมีประเพณีนมัสการพระธาตุแช่แห้งที่ชาวน่านเรียกว่า งานหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง
ที่สำคัญ พระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ตามคติการไว้พระธาตุตามปีนักษัตรของชาวล้านนาอีกด้วย
ท่านใดมีโอกาสได้ไปเยือนจังหวัดน่าน แนะนำว่าควรไปเยือนและนมัสการพระธาตุแช่แห้งเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่ง
5. ปีมะโรง (ปีงูใหญ่)
พระธาตุประจำปีเกิดคือ: วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ประดิษฐานพระสิงห์ หรือ ที่คนรู้จักในนามพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริดหุ้มทอง เป็นพระสกุลช่างเชียงแสน ศิลปะล้านนาอันงดงามแบบ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง” ขนาดหน้าตักกว้าง 31 นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม 51 นิ้ว
(ณ ปัจจุบัน มีพระพุทธสิหิงค์ 3 องค์ องค์แรกอยู่ที่เชียงใหม่ที่วัดพระสิงห์ องค์ที่สอง อยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในกรุงเทพฯ และ องค์ที่สาม อยู่ที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานที่จังหวัดเชียงใหม่และนครศรีธรรมราชนั้น จะเป็นพุทธลักษณะปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง คือจะเป็นพุทธลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชร ส่วนองค์ที่กรุงเทพจะเป็นแบบขัดสมาธิราบ)
อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของพระมหาเจดีย์ (พระธาตุหลวง) ซึ่งตำนานล้านนากล่าวว่าเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ และเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะโรง ฉะนั้นคนเกิดปีมะโรงต้องมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
ประวัติการก่อสร้างวัด เริ่มขึ้นโดยพญาผายูกษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังราย โปรดสร้างวัดนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 1888 พร้อมทั้งสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ (พระธาตุหลวง) สูง 25 วา มีฐานสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 16 วา 1 ศอก 6 นิ้ว ถัดจากฐานขึ้นไปเป็นทรงเจดีย์ระฆังคว่ำ โดยหลังจากนั้นอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระ
อาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ”
ต่อมาราว พ.ศ. 1943 เจ้ามหาพรหม กษัตริย์เมืองเชียงราย ได้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ ซึ่งได้มาจากเมืองกำแพงเพชร นำมาถวายพญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่ พญาแสนเมืองมาได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงห์ประดิษฐานไว้ที่วัดลีเชียงพระประชาชนจึงเรียกวัดลีเชียงพระ
ว่า”วัดพระสิงห์” นับตั้งแต่นั้นมา
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2101 – 2317 หัวเมืองเชียงใหม่มีศึกรบกับทางพม่า ตัววัดพระสิงห์ขณะนั้นมีสภาพเป็นวัดร้าง โบราณสถานอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม จนมาถึง พ.ศ. 2469 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และครูบาศรีวิชัย ได้นำประชาชนร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ตัววัดและพระมหาธาตุเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้น
ข้างพระมหาธาตุเจดีย์นั้น ยังมีกู่(สถูป)ขนาดเล็ก เป็นที่ตั้งอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ซึ่งผู้คนมักสับสนว่าพระมหาธาตุเจดีย์องค์ใหญ่เป็นที่บรรจุอัฐิพญาคำฟู ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะสมัยที่ครูบาศรีวิชัย มาแผ้วถางบูรณะวัดพระสิงห์ ก็ได้พบกู่อัฐินี้และค้นพบข้างในมีผอบบรรจุแผ่นทองคำจารึกเรื่องราวต่าง ๆ รวมไปถึงโกศบรรจุอัฐิพญาคำฟู จึงได้ให้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางเชียงใหม่ชั่วคราว และได้สูญหายไปในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาในท้ายที่สุด
ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 วัดพระสิงห์ได้รับพระกรุณาโปรดให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
ปัจจุบัน พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ด้านในมีมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์และสังข์ทอง ซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว และ พระอุโบสถตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ทุกปีมี พิธีอาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ แห่ไปตามถนนรอบเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วกัน
ซึ่งรวมไปถึง “พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์” ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง มีความเชื่อกันว่าหากได้มานมัสการอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งแล้ว จะเป็นมงคลสูงสุดทำให้อายุมั่นขวัญยืน มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป ซึ่งปัจจุบัน พ.ศ. 2561 มีการบูรณะโดยการหุ้มบุและด้วยทองจังโกเหลืองอร่ามรอบทั้งองค์จนสวยงามในแบบปัจจุบัน
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติอีกด้วย
6. ปีมะเส็ง (ปีงูเล็ก)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ:
– พระมหาเจดีย์พระพุทธคยา ประเทศอินเดีย
– เจดีย์เจ็ดยอด แห่งวัดโพธารามมหาวิหาร หรือ วัดเจ็ดยอด (เชียงใหม่)
– เจดีย์พระพุทธคยา แห่งวัดอนาลโย (พะเยา)
– เจดีย์ศรีมหาโพธิ์ วัดหนองบัว (อุบลราชธานี)
เริ่มต้นเดิมที พระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีมะเส็ง คือ พุทธคยา ที่ตั้งอยู่ ณ เมืองคยา ประเทศอินเดีย แต่ด้วยความที่อยู่ไกลมาก คนโบราณในล้านนาจึงให้ เจดีย์วัดเจ็ดยอด ณ วัดเจ็ดยอด ในเมืองเชียงใหม่ เป็นสัญลักษณ์แทนการไปถึงพุทธคยา
แต่มาภายหลัง ได้มีการจำลองเจดีย์พระพุทธคยา แห่งวัดอนาลโย ที่จังหวัดพะเยา ทำให้มีศรัทธา และไปนมัสการได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังมีพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ วัดหนองบัว (อุบลราชธานี) ทางภาคอีสานอีกด้วย
พระมหาเจดีย์พุทธคยา (ประเทศอินเดีย)
สถูปอันสง่างามที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก อันเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น ซึ่งภายในมี องค์หลวงพ่อพระพุทธเมตตา ประดิษฐานอยู่แล้วยังมี ต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา และ โพธิบัลลังก์พระแท่นวัชรอาสน์ ตั้งอยู่ด้านหลังของพระมหาเจดีย์ฯ อีกด้วย มีการสร้างพระมหาเจดีย์มาตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช และสร้างเติมต่อ ๆ มา โดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา พุทธศาสนิกชนต่างเพียรพยายามหลั่งไหลเดินทางมาเพื่อนมัสการสถานที่แห่งนี้ สถูปแห่งนี้เป็นที่ระลึกถึงการกำเนิดขึ้นแล้วบนโลกนี้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
เจดีย์เจ็ดยอด (วัดโพธารามมหาวิหาร จ.เชียงใหม่)
เป็นโบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัดโพธารามมหาวิหาร หรือ วัดเจ็ดยอด เชื่อว่าถ่ายแบบมาจากมหาโพธิเจดีย์พุทธคยา ในประเทศอินเดีย สร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20 เมื่อ พ.ศ.2020 พระเจ้าติโลกราชโปรดฯ ให้จัดการประชุมพระเถรานุเถระทั่วทุกหัวเมืองในอาจักรล้านนา และทรงคัดเลือกได้พระธรรมทิณ เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ผู้จัดเจนในพระบาลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระองค์ทรงเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนี้ใช้เวลาปีหนึ่ง จึงสำเร็จ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ลำดับที่ 8 โดยทำมาแล้วทั้งในประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกา รวมเจ็ดครั้ง และเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
พระมหาเจดีย์พระพุทธคยา (วัดอนาลโยทิพยาราม จ.พะเยา)
มีการจำลองพระมหาเจดีย์พระพุทธคยา มาสร้างขึ้นที่ วัดอนาลโย (พะเยา) ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร สูงถึงยอดฉัตรทรงอินเดีย 32 เมตร หรือ มีขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของเจดีย์พุทธคยาองค์จริงที่ประเทศอินเดีย นับว่าเป็นเจดีย์พุทธคยาที่จำลองแบบได้เหมือนองค์จริงมากที่สุดแห่งหนึ่ง
พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ (วัดหนองบัว จ.อุบลราชธานี)
สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 โดยได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย นับเป็นวัดเดียวในภาคอีสานที่มีเจดีย์แบบนี้ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ร่มรื่น
7. ปีมะเมีย (ปีม้า)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ:
– พระเจดีย์ชเวดากอง (ประเทศพม่า)
– พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย (ลำพูน)
– เจดีย์พระบรมธาตุบ้านตาก (ตาก)
– พระบรมธาตุนครชุม (กำแพงเพชร)
พระเจดีย์ชเวดากอง ที่ตั้งในประเทศพม่า เป็นเจดีย์ประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมีย แต่ด้วยระยะทาง ทำให้เดินทางไปถึงได้ยากลำบาก จึงมีเจดีย์พระธาตุจากพุทธสถานในประเทศไทยเป็นสัญลักษณ์แทนการไปถึงเจดีย์ชเวดากอง คือ พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย, เจดีย์พระบรมธาตุเจดีย์ และ พระ
บรมธาตุนครชุม ทำให้ไปนมัสการสักการะได้สะดวกขึ้น
พระเจดีย์ชเวดากอง (ประเทศพม่า)
มหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระโคตมพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น สร้างโดยพระเจ้าโอกะลาปะ ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 11 และได้มีการสร้างและบูรณะบำรุงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระมหาเจดีย์ชเวดากองมีทองคำโอบหุ้มอยู่เป็นน้ำหนักถึง 1100 กิโลกรัม เจดีย์มีความสูงจากฐานถึงยอดแหลม คือ 112.17 เมตร โดยยอดสุดขององค์เจดีย์ บริเวณลูกแก้วหรือหยาดน้ำข้างประดับด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ และเพชร 5,448 เม็ด ชั้นบนสุดมีทับทิม 2,317 เม็ดและเพชรเม็ดใหญ่ 76 กะรัต เพื่อรับลำแสงแรกและลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ โดยชื่อ “ชเว” หมายถึง ทอง “ดากอง” นั้น เป็นชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง เป็นมหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศพม่า
การกราบไหว้บูชาเจดีย์ชเวดากอง จะนำมาซึ่งบุญกุศลอันเป็นหนทางสู่การหลุดพ้นทุกข์โศกโรคภัยทั้งมวล บริเวณโดยรอบจะมีการนั่งทำสมาธิ เดินประทักษัณรอบองค์เจดีย์ เป็นต้น ผู้ที่เข้ามานมัสการ หรือเยี่ยมชมจะต้องถอดรองเท้าทุกครั้งเมื่อมาถึงทางเข้า
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย (ลำพูน)
องค์เจดีย์สร้างให้มีความคล้ายกับมหาเจดีย์ชเวดากองจำลอง ถือเป็นการผสานสถาปัตยกรรมและศิลปะทางพระพุทธศาสนาแบบมอญและล้านนาที่สร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ โดยกำหนดให้มีพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ เป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลางและมีพระเจดีย์ องค์เล็กอยู่เป็นบริวารล้อมรอบอยู่ 48 องค์ตามแบบพระสถูปเจดีย์ศิลปะลังกา ความหมายของพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ตรงกลาง เป็นพระเจดีย์ประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมีย พระเจดีย์องค์เล็ก 10 องค์เป็นเจดีย์ประจำปีเกิด 10 ปีนักษัตร พระเจดีย์องค์เล็ก 28 องค์ หมายถึงพระพุทธ เจ้า 28 พระองค์ ที่ล่วงมาแล้ว ความสูงขององค์พระมหาเจดีย์ โดยวัดจากพื้นถึงบัวยอดฉัตร 71 เมตร ระยะเวลาในการก่อสร้างเป็นเวลา 10 ปี โดยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา คนที่ไม่มีโอกาสไปกราบไหว้ถึงที่พระมหาเจดีย์ ชเวดากอง แต่ได้มากราบไหว้ที่พระเจดีย์นี้ก็มีอานิสงส์มากเช่นกัน
ปัจจุบันพระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัยเป็นพุทธเจดีย์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ อันจะเป็นพุทธเจดีย์ของภัทรกัป ให้ลูกหลานคนไทยได้กราบไหว้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบันพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ตั้งอยู่ใน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
เจดีย์พระบรมธาตุบ้านตาก (ตาก)
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าพระธาตุ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก มีองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นของโบราณ แต่ได้บูรณะเป็นรูปทรงจำลองมาจากเจดีย์ชเวดากองแห่งพม่า ครอบองค์เดิมไว้ มีเจดีย์องค์เล็ก ๆ รายรอบไว้ด้วยองค์เดิม เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างขึ้นมานานมาก อยู่ในราวสมัยสุโขทัย ต่อมาในระยะหลังได้ขาดการทะนุบำรุง จึงได้กลายสภาพเป็นวัดร้างไป และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ ประมาณ พ.ศ. 2440 โดยตัวอุโบสถมีประตูเป็นไม้แกะสลักสวยงาม หน้าบันและจั่วเป็นไม้ และหน้าต่างได้แกะสลักเป็นพุทธประวัติปิดทอง หัวบันไดเป็นนาค วิหารของวัดซึ่งเป็นวิหารเก่ามีเพดานสูง 2 ชั้น โดยมีช่องลมอยู่โดยรอบ จึงทำให้อากาศภายในเย็นสบาย เหมาะสำหรับนั่งเจริญสติภาวนาอย่างยิ่ง วิหารแห่งนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง และนอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีวิหารไม้เก่าแก่ที่มีลายแกะสลักไว้ไห้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม จึงนับเป็นวัดที่มีคุณค่าทางโบราณคดี และหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างมาก สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปพระเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า ก็สามารถกราบไหว้เจดีย์พระบรมธาตุเจดีย์บ้านตาก ที่จังหวัดตากได้เช่นกัน
พระบรมธาตุนครชุม (กำแพงเพชร)
ดพระบรมธาตุนครชุม ตั้งอยู่ใน อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุมเป็นวัดประจำเมือง สิ่งสำคัญที่สุดภายในวัดก็คือ พระบรมธาตุนครชุมมหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์ เสมือนดั่งเจดีย์ ชเวดากองในเมืองพม่า
เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมกินเวลายาวนานมากกว่า 600 ปี เดิมนั้นเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน โดยต่อมาได้บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม โดยสร้างครอบฐานเดิม พระเจดีย์จึงมี
รูปร่างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 พระองค์ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่มีความศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองกำแพงเพชรอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ภายในมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระอุโบสถหลังเก่า พระวิหาร วิหารพระนอน ศาลาเรือนไทย และเช่นเดียวกัน หากท่านใดไม่สามารถเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากองได้ ก็สามารถกราบไหว้เจดีย์พระบรมธาตุนครชุมได้เช่นกัน
8. ปีมะแม (ปีแพะ)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ: พระธาตุดอยสุเทพ (จ.เชียงใหม่)
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,046 เมตร เป็นพุทธสถานที่สำคัญมากอีกแห่งของชาวเชียงใหม่ ก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา มีเจดีย์ทรงเชียงแสน ฐานสูงย่อมุมระฆังทรงแปดเหลี่ยมปิดด้วยทองจังโก 2 ชั้น ลานเจดีย์เป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ทางขึ้นเป็นบันไดนาคเจ็ดเศียรก่อปูน
วัดพระธาตุดอยสุเทพ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1927 สมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์มังราย ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการบูชาส่วนพระองค์ถึง 13 ปี มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องสามครั้ง พร้อมกับทำประทักษิณสามรอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก หาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2081 สมัยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ได้โปรดฯให้เสริมพระเจดีย์ให้สูงกว่าเดิม เป็นกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำทำเป็นรูปดอกบัวทองใส่บนยอดเจดีย์ และต่อมาเจ้าท้าวทรายคำ ราชโอรสได้ทรงให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ
ซึ่งในปี พ.ศ. 2100 พระมหาญาณมงคลโพธิ์ วัดอโศการาม เมืองลำพูนได้สร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้ประชาชนขึ้นไปสักการะได้สะดวกขึ้น และกระทั่งถึงสมัยครูบาศรีวิชัย ได้สร้างถนนยาวตั้งแต่ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่ผ่านวัดพระธาตุดอยสุเทพและไปสิ้นสุดที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยถนนที่สร้างนี้มีความยาวถึง 11.53 กิโลเมตร
ผู้ที่เดินทางมาสักการะที่วัดแห่งนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ได้อย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นบันไดนาคไป 300 ขั้น เพื่อไปยังวัด หรือใช้บริการรถกระเช้าขึ้น-ลงดอยสุเทพได้ ระหว่างเวลา 05.30-19.30 น.
ความเชื่อและวิธีการบูชา เชื่อกันว่าหากมาสักการะและอธิษฐานขอพรพระธาตุดอยสุเทพ จะมีแต่ความสำเร็จสมหวังดังปรารถนา แคล้วคลาด ผ่านอุปสรรคนานาไปได้ ในการสักการะพระธาตุนั้น ควรเตรียมข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียนแล้วเดินเวียนขวา 3 รอบ พร้อมกล่าวคำนมัสการพระธาตุ โดยตั้งจิตอธิษฐานขอให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา และควรไหว้พระธาตุให้ครบทั้ง 4 ทิศ ซึ่งให้อานิสงส์ที่ต่างกัน คือ ทิศเหนือขอให้มีปัญญาดุจพระจัทร์เพ็ญ ทิศใต้ ขอให้ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้บวชในบวรพุทธศาสนา ทิศตะวันออกขอให้ได้ขึ้นสวรรค์ ทิศตะวันตกเป็นการเคารพบูชาสูงสุดต่อพระธาตุ สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อได้มานมัสการพระธาตุดอยสุเทพแล้ว ควรมากราบอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ประดิษฐานอยู่ตรงเชิงดอยสุเทพเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
งานประเพณีเตียวขึ้นดอยเพื่อสักการะพระธาตุดอยสุเทพจัดเป็นประจำทุกปี โดยมีขึ้นก่อนหน้าวันวิสาขบูชา 1 คืน ในงานจะมีขบวนแห่น้ำสำหรับสรงพระธาตุโดยมีพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่าง ๆ มาร่วมขบวนแห่ขึ้นดอยเป็นจำนวนมาก
9. ปีวอก (ปีลิง)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ: วัดพระธาตุพนม (จ.นครพนม)
พระธาตุพนม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอีสาน พระบรมธาตุที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนมมาแต่ โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าตั้งตระหง่าน อยู่ริมฝั่งโขง เป็นสถานที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยโหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง พระมหากัสสปะและพระอรหันต์ 500 องค์ ได้นําพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีปและท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง 5 เป็นประธาน ในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน
องค์พระธาตุพนมได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง จนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.39 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งอิงค์เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ และภัยพิบัติจากการเกิดฝนตกพายุพัดแรง ติดต่อกันหลายวัน ประชาชนได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่สร้างครอบฐานพระธาตุองค์เต็ม โดยรักษารูปแบบเต็ม ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น
พุทธศาสนิกชนที่ได้มาเยี่ยมเยียนจากทั่วสารทิศทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้สืบต่อความเชื่อกันมาจากบรรพบุรุษ ว่ากันว่าหากใครได้มา นมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม จ ครั้ง ที่ถือเป็น อานิสงส์ผลบุญยิ่งนัก
ในวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุพนม
10. ปีระกา (ปีไก่)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ: พระธาตุหริภุญชัย (จ.ลำพูน)
วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานตั้งอดีตนับเวลามากกว่าพันปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฏฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทาง ทิศตะวันออก นอกจากนั้นยังเป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปี ระกาพระบรมธาตุหริภุญไชย ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติ- บัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทอง ประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ และทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูป นั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เดิมทีเป็นพระราชวังของพระเจ้าอทิตยราชกษัตริย์ผู้ครอง
นครหริภุญชัย องค์ที่ 33 ต่อจาก พระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์ของเมืองหริภุญชัย บริเวณกำแพงพระราชวังของพระเจ้าอาทิตยราชได้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน ในกาลต่อมาภายหลังพระเจ้าอาทิตยราช ได้ถวายราชวังของพระองค์ให้เป็นสังฆารามไว้กับทางพระพุทธศาสนาเมื่อถวายเป็นสังฆารามแล้ว ได้รื้อกำแพงชั้นนอกออกแล้วปั้นสิงห์คู่หนึ่งไว้ที่ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก เป็นสิงห์ขนาดใหญ่ประดับเครื่องทรงยืนอ้าปากประดิษฐานไว้แทน ตามคติโบราณทางเหนือซึ่งนิยมสร้างสิงห์เฝ้าวัด วัดพระธาตุหริภุญชัย จึงมีกำแพงสองชั้นตามรูปลักษณ์ของพระราชวังเดิมของพระเจ้าอาทิตยราช คือ รอบบริเวณวัดชั้นนอกชั้นหนึ่ง และก่อกำแพงเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุหริภุญชัยเป็นกำแพงชั้นในอีกชั้นหนึ่ง
วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูนมีถนนล้อมรอบสี่ด้าน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ซุ้มประตูซึ่ง ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัด ต้องผ่านซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร เป็นฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็น ชั้น ๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นใน สมัยพระ เจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆารามวิหารหลวง เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่ เรียกว่า วิหารหลวง เป็นวิหารหลัง ใหญ่มีพระระเบียงรอบด้านและมีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2466
วัดพระธาตุหริภุญชัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478
ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย กำหนดจัดขึ้น ณ วัดพระบรมธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า ” วันแปดเป็ง ” (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของภาคกลาง) หรือ” วันวิสาขบูชา “
11. ปีจอ (ปีสุนัข)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ:
– พระธาตุอินทร์แขวน (ประเทศพม่า)
– พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี วัดเกตการาม (จ.เชียงใหม่)
ตามคติความเชื่อการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของชาวล้านนา ได้ระบุไว้สำหรับผู้ที่เกิดปีจอ คือ พระเจดีย์จุฬามณี (พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี) ซึ่งบรรจุพระเกศา (ผม), พระจุฬา(จุก) และ พระเมาลี(มวยผม) พร้อมด้วยเครื่องทรงคือปิ่นมณี และ ผ้าพันโพกพระเศียรของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วทรงสละทิ้งเมื่อคราวออกผนวช เพื่อแสวงหาหนทางดับทุกข์เป็นพระพุทธเจ้า
พระเจดีย์จุฬามณี ในคติความเชื่อของชาวล้านนา และ ไตรภูมิพระร่วง ได้ระบุว่า ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งในไตรภูมิพระร่วงได้บอกไว้ว่า เป็นเจดีย์ที่มีกำแพงทองล้อมรอบ ส่วนกลางเป็นแก้ว ช่วงปลายเป็นทอง ประดับด้วยรัตนะมีค่า เป็นสิ่งสำคัญบนสวรรค์ชั้นฟ้าที่เหล่าทวยเทพยดาพากันมากราบไหว้อยู่เสมอ ขณะที่สามัญชนคนทั่วไปก็ปรารถนาที่จะได้กราบไหว้พระเจดีย์จุฬามณีด้วยเชื่อว่าจะได้บุญกุศลแรงกล้า และจะทำให้ได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกมีแต่ความสงบสุข
ทว่า การที่คนธรรมดาจะไปกราบนมัสการได้นั้น จะต้องถึงแก่กรรม หรือ สำเร็จฌานสมาธิขั้นสูง ถึงจะไปเยือนได้เท่านั้น
ด้วยความยากลำบากในการไปเยือนพระเจดีย์จุฬามณี คนทั่วไปไม่สามารถไปถึงได้ไม่ คนล้านนาจึงได้สมมุติให้ “พระธาตุอินทร์แขวน” ตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า เพราะพระธาตุประจำคนเกิดปีจอแทน แต่ด้วยการเดินทางไปพระธาตุอินทร์แขวนเองนั้น ก็ต้องเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้หลายคนไม่สามารถเดินทางไปได้สะดวก จึงได้ให้ “พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี วัดเกตการาม (จ.เชียงใหม่)” เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ให้ผู้ที่เกิดปีจอ สามารถเดินทางมากราบนมัสการได้สะดวก
พระธาตุอินทร์แขวน (ประเทศพม่า)
พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งอยู่ในเมือง “ไจก์โถ่” รัฐมอญ บนยอดเขาพวงลวง ณ ระดับความสูง 3,615 ฟุต จากระดับน้ำทะเล
คนไทยเรียกพระธาตุองค์นี้ว่า“พระธาตุอินทร์แขวน” ส่วนคนพม่าและคนมอญเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า “ไจก์ทิโย” ซึ่งเป็นภาษามอญ หมายถึง เจดีย์เหมือนศีรษะฤๅษี หรือ “เจดีย์หัวฤๅษี”
พระธาตุอินทร์แขวนมีตำนานเรื่องเล่าที่มีเค้าโครงเรื่องหลักคล้ายๆกัน แตกต่างกันก็ตรงในรายละเอียด โดยมีตำนานหลักๆอยู่ 2 ตำนาน ได้แก่
ตำนานแรก เล่าขานกันว่า…กษัตริย์สุวรรณภูมิในสมัยพุทธกาลมีโอรส 2 องค์ แต่ทั้งคู่ไม่ยอมขึ้นครองราชย์บัลลังก์เป็นกษัตริย์ แต่กลับขอออกบวชครองตนเป็นฤๅษีอยู่ในป่า วันหนึ่งนางนาคที่ตั้งท้องกับมนุษย์ได้มาออกไข่ทิ้งไว้ในป่า ฤๅษีผู้พี่จึงเก็บไปดูแล เมื่อฟักออกมาเป็นเด็กชายจึงเลี้ยงดูจนเติบใหญ่
ต่อมาเมื่อพระราชบิดาผู้เป็นกษัตริย์สวรรคต ฤๅษีผู้พี่จึงส่งเด็กหนุ่มลูกพญานาคที่เลี้ยงดูให้ไปเป็นกระษัตริย์ ส่วนท่านก็ยังมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมในป่าต่อไป จนวันหนึ่งท่านฤๅษีมีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังได้พระเกศาจากพระพุทธองค์มาบูชา ท่านจึงเก็บรักษาไว้อย่างดีบนศีรษะ
ครั้นเมื่ออายุขัยถึงวันใกล้จะละสังขาร ท่านฤๅษีได้จึงอธิษฐานขอให้มีสถานที่ที่ปลอดภัย ปราศจากผู้รบกวน เพื่อเก็บรักษาพระเกศาของพระพุทธองค์ โดยพระเกศาต้องบรรจุอยู่ในก้อนหินที่มีรูปทรงเหมือนศีรษะของท่าน ด้วยเหตุนี่พระอินทร์ได้ช่วยค้นหาก้อนหินดังกล่าวจนพบ หลังจากนำพระเกศาธาตุไปบรรจุแล้ว ท่านฤาษีก็ทำการละสังขาร ขณะที่หินก้อนที่บรรจุพระเกศาธาตุนั้นก็ได้กลายมาเป็นพระธาตุอินทร์แขวนมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนอีกตำนานเล่าขานกันว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาแก่ฤๅษี ซึ่งเหล่าฤๅษีต่างนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ต่างๆ แต่มีฤๅษีองค์หนึ่ง(หลายข้อมูลระบุว่าชื่อ“ฤๅษีติสสะ”)กลับนำพระเกศาไปซ่อนไว้ในมวยผม ครั้นเมื่อถึงคราวต้องละสังขาร ฤๅษีองค์นี้จึงอธิษฐานว่าจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของตน พระอินทร์จึงมาช่วยค้นหาก้อนหิน แล้วค้นพบก้อนหินรูปลักษณะดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทร พระอินทร์จึงนำมาแขวนไว้บนภูเขาหิน อันเป็นที่มาของ“พระธาตุอินทร์แขวน” อันลือลั่น
พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี วัดเกตการาม (จ.เชียงใหม่)
เนื่องด้วยการเดินทางไปยังพระเจดีย์จุฬามณีด้วยกาลปัจจุบันไม่ได้ จึงต้องมีสิ่งสมมุติแทนองค์จริง และเดินทางได้ได้สะดวก จึงให้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี วัดเกตการาม เป็นองค์แทน ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์
ย่านวัดเกตอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ถือเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันย่านวัดเกตเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย และย่านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ตามประวัติ ว่าสร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ. 1971 แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลง ในปี พ.ศ. 2121 พระสุทโธ รับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบล้านนา นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระวิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้พื้นบ้านให้ชม
ปัจจุบัน วัดเกตการาม ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524
12. ปีกุน (ปีหมู)
พระธาตุประจำปีเกิด คือ: วัดพระธาตุดอยตุง (จ.เชียงราย)
วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ซึ่งดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 46 กม. และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเนื่องจากพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณสองพันเมตร
พระธาตุดอยตุงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน) พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่พระเจ้าอชุตราชได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ แล้วจึงได้ให้ทำตุง (ธง) มีความยาว 1,000 วา ปักบนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ
พระธาตุดอยตุงแต่เดิมมีองค์เดียว รูปแบบการก่อสร้างก่อเป็นศิลปะเชียงแสนย่อมุมไม้สิบสองคล้ายกับพระธาตุดอยสุเทพ เมืองเชียงรายสมัยก่อนเป็นเมืองร้างอยู่หลายครา พระธาตุดอยตุงจึงขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ ตัวพระธาตุทรุดโทรมและพังทลายลง
ต่อมาในสมัยเจ้ามังรายนราชแห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ เจ้ามังรายนราชจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม นับจากนั้นเป็นต้นมาพระธาตุดอยตุงจึงได้มีเจดีย์สององค์มาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2470 พระธาตุดอยตุงทรุดโทรมมาก ครูบาศรีวิชัยกับประชาชนชาวเมืองเชียงรายได้บูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์องค์ระฆังขนาดเล็กสององค์บนฐานแปดเหลี่ยม ตามศิลปะแบบล้านนา
ในปี พ.ศ. 2516 กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบพระเจดีย์เดิมไว้ องค์พระธาตุเป็นสีทองขนาดเล็กสององค์ สูงประมาณ 5 เมตร บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำสี่ทิศ องค์ระฆังและปลียอดมีขนาดเล็ก ออกแบบโดยนายประกิต (จิตร) บัวบุศย์ การสร้างพระธาตุองค์ใหม่นั้นใช้วิธีหล่อคอนกรีตมาประกอบครอบเจดีย์คู่ทั้งสององค์ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงแบบขององค์พระธาตุดังกล่าวสามารถอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้ภายในได้
ในปี พ.ศ. 2549 กรมศิลปากรมีโครงการรื้อถอนรูปแบบศิลปกรรมของพระธาตุดอยตุงที่กระทรวงมหาดไทยได้ก่อครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามร้องขอของคนท้องถิ่นไปทางจังหวัด และส่งต่อมายังสำนักโบราณคดีเชียงใหม่ ให้ช่วยฟื้นฟูพระสถูปในสมัยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ได้บูรณะไว้ตามภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในวิหารพระธาตุดอยตุง ซึ่งคณะทำงานได้มีการหารือทางเจ้าคณะอำเภอเรียบร้อยแล้ว และได้ให้นำพระสถูปครอบที่ถอดออกมาไปตั้งไว้ที่วัดน้อยพระธาตุดอยตุง ซึ่งอยู่ด้านล่างก่อนขึ้นดอยพระธาตุ จากนั้นทำการบูรณะพระสถูปเจดีย์สมัยครูบาศรีวิชัยให้คืนกลับมาสภาพดังเดิมให้แล้วเสร็จก่อนเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 21 ล้านบาท โดยรวมค่าปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ ปรับปรุงพื้นที่ลานพระธาตุให้กว้างขึ้น รื้อโรงเก็บวัสดุอุปกรณ์ เคลื่อนย้ายพระสังกัจจายน์และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางต่างๆ ไปตั้งประดิษฐานในสถานที่ที่เหมาะสม ปรับปรุงภูมิทัศน์ฐานบันไดนาคทางขึ้น เพื่อความสะดวกต่อพุทธศาสนิกชนซึ่งไปนมัสการพระธาตุเป็นจำนวนมากของทุกปี